svasdssvasds

อิสราเอลเริ่มบุกฉนวนกาซา ทั่วโลกแตกเป็นสองฝั่ง

อิสราเอลเริ่มบุกฉนวนกาซา ทั่วโลกแตกเป็นสองฝั่ง

อิสราเอล ล่าสุด ทั่วโลกแตกเป็นสองฝั่ง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ยินดีช่วยเหลืออิสราเอล แต่ต้องมีหนทางสู่การก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ด้วย

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2566 โจไบเดนได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ “60 Minutes” ของ CBS ว่า มันจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ถ้าหากอิสราเอลยึดครองฉนวนกาซา เพราะวิกฤตด้านมนุษยธรรมจะทวีความรุนแรงขึ้น และสหรัฐฯ กำลังทำงานเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำ และพลังงานในฉนวนกาซา พร้อมกับเรียกร้องให้มีการคุ้มครองพลเรือน ในพื้นที่ซึ่งถูกปิดล้อม

“สิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาตามความคิดของผม คือกลุ่มฮามาสเป็นองค์กรหัวรุนแรงที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด ดังนั้นกลุ่มฮามาสต้องถูกกำจัดโดยสิ้นเชิง แต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานของปาเลสไตน์ และจำเป็นต้องมีเส้นทางที่ปูไปสู่รัฐปาเลสไตน์” ไบเดน กล่าว

ไบเดนยังกล่าวอีกว่าตนเองรู้จักกับ นาย “เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีอิสราเอลมากว่า 40 ปีแล้ว และมีความสนิทสนมกันมาก ซึ่งตนเองได้กำชับให้เขาที่เวลานี้เต็มไปด้วยความโกรธแค้นอยู่ว่า อย่าลืมปฏิบัติตามกฎแห่งสงครามที่ทุกประเทศยึดถืออย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้บริสุทธิ์ในฉนวนกาซา สามารถเข้าถึงยา อาหาร และน้ำได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ ออกมาเตือนให้อิสราเอลลดการใช้ความรุนแรง นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งขึ้น

“โจ ไบเดน” ยินดีช่วยเหลืออิสราเอล แต่ต้องมีหนทางสู่การก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ด้วย	Credit ภาพ Reuter

อย่างไรก็ตาม นาย “ไมเคิล เฮอร์ซอก” เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหรัฐฯ ก็ได้บอกกับนักข่าว CNN ว่าอิสราเอลไม่ได้มีความต้องการที่จะยึดครองฉนวนกาซาหลังความขัดแย้งสิ้นสุด เพราะไม่มีความปรารถนาที่จะปกครองชีวิตของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 2 ล้านคนแน่นอน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาติต่าง ๆ ยังคงสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตัวเองของอิสราเอลอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าย้อนกลับไปในช่วงแรกของความขัดแย้ง ผู้นำอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และอีกหลายประเทศในยุโรป ต่างออกมาประณามกลุ่มฮามาสที่สังหารผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยม รวมถึงยืนเคียงข้างอิสราเอล โดยเฉพาะในเยอรมนีและฝรั่งเศสที่มีการสั่งจับกุมผู้ชุมนุมที่ออกมาสนับสนุนปาเลสไตน์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยอีกด้วย

ทว่าเมื่อการสู้รบที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และมีผู้เสียชีวิตอย่างไม่จบสิ้น ทำให้เห็นพลังจากประชาคมโลกอีกมุมหนึ่งที่ออกมารวมตัวสนับสนุนชาวปาเลสไตน์เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นอิหร่าน ที่ชื่นชมความสำเร็จของกลุ่มฮามาสมาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการ ได้ออกมาเตือนว่าพร้อมจะเผชิญหน้ากับอิสราเอลเช่นกัน หากอิสราเอลไม่หยุดโจมตีฉนวนกาซา และยังได้ร่วมมือกับซีเรียเพื่อเรียกร้องให้ชาติอาหรับทั้งหลายรวมเป็นหนึ่งเพื่อชาวปาเลสไตน์ และนอกเหนือจากรัฐแล้ว พลเมืองในหลายประเทศทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชีย ก็ได้ออกมาจัดกิจกรรมแสดงพลังสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างเปิดเผย

สงครามครั้งใหม่ระหว่าง อิสราเอลกับฮามาสครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน และถึงแม้ทางอิสราเอลจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง อพยพยกลงไปทางใต้ก่อนการรุกรานภาคพื้นดินจะเริ่มขึ้น แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งชี้ว่าการอพยพอย่างปลอดภัยแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะก่อนหน้านั้นอิสราเอลใช้การโจมตีทางอากาศทำลายโครงสร้างพื้นฐานไปหลายแห่ง ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากขาดแคลนที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้สันติภาพในดินแดนแห่งนี้เป็นเรื่องที่เอื้อมถึงได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก และที่มองข้ามไม่ได้คือเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประชาคมบนโลกเกิดความแตกแยกกัน จนอาจขยายไปสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคได้ไม่ยาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related