svasdssvasds

ACT ร่วมกับมหาดไทย จัดเสวนา “ผู้นำ...กับการปราบโกง”

ACT ร่วมกับมหาดไทย จัดเสวนา “ผู้นำ...กับการปราบโกง”

คิกออฟ! เสวนาออนไลน์ ACT ผนึกมหาดไทย ชูผู้ว่าฯ คือ “ผู้นำ...กับการปราบโกง” ผลักดันใช้ AI ตรวจสอบคอร์รัปชัน ผสานพลังประชาชนร่วมสแกนโกงเพื่อสร้างความโปร่งใสในทุกโครงการ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  นายไมตรี ไตรติลานันท์  ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “ผู้นำ...กับการปราบโกง”

ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยการเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมฟังการประชุมพร้อมกันผ่านทาง Facebook : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ให้เห็นบรรยากาศการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไทยไปพร้อมกันด้วย

โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า การต่อต้านการคอร์รัปชันในแผนงานของกระทรวงมหาดไทย กำหนดกรอบใหญ่ใน 3 แนวทาง คือ

1.ยุทธศาสตร์ชาติ

2.ปฏิรูปประเทศ                              

3.แผนแม่บท

ACT ร่วมกับมหาดไทย จัดเสวนา “ผู้นำ...กับการปราบโกง”

บทความที่น่าสนใจ

แต่สิ่งสำคัญคือ มุ่งเน้นการพัฒนาคน สร้างให้คนเป็นคนดี ส่งเสริมให้คนดีได้มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ดี เพื่อให้กระจายอำนาจในการทำงานไปทั่วถึงยังภูมิภาค จึงมีการขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต(ศปท.) เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมา มุ่งเน้นทั้งการป้องกัน ปราบปราม และส่งเสริมจริยธรรม ส่งผลให้ภาพรวมของการทุจริตคอร์รัปชันน้อยลงตามลำดับ                       

โดยปี 2562 มีข้อร้องเรียน 970 กว่าเรื่อง ปี 2563 เหลือ 700 กว่าเรื่อง ปี 2564 เหลือ 700 เรื่อง คือ มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่การลงโทษในช่วงปี 2557-2565 มีการลงโทษ 1,200 ราย ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนของมหาดไทย

ACT ร่วมกับมหาดไทย จัดเสวนา “ผู้นำ...กับการปราบโกง”

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีการ นำเทคโนโลยีมาใช้ นำระบบ AI มาใช้ในศูนย์ดำรงธรรม เพื่อติดตามประเมินผล พร้อมกับการส่งเสริมให้ข้าราชการมหาดไทยมีสำนึกและจิตใจมุ่งมั่นทำงานด้วยความสุจริต ที่สำคัญการลงโทษเราดำเนินตามขั้นตอนตามกฎหมายไม่มีการช่วยเหลือกัน เราประเมิน 360 องศา สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าราชการมหาดไทยมีบรรทัดฐานที่เหมือนกัน  สร้างสำนึกการต่อต้านคอร์รัปชันให้เพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนเข้าข่ายทุจริต 2,000 กว่าเรื่อง จำแนกแล้วเป็นเรื่องทุจริตประมาณ 500 เรื่อง เรื่องไม่ปฏิบัติตามแบบแผน 500 เรื่อง ที่เหลืออีก 1,000 เรื่อง มีส่วนได้เสีย พฤติกรรมช่วยเหลือบ้าง สำหรับเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทย มีแนวทางป้องปราม คือ ถ้ามีการลงโทษต้องมีการเวียนให้ทราบรับรู้ทั่วไปว่าไม่ควรประพฤติแบบนี้อีก ขณะที่ตัวเลขที่สั่งให้สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นตำแหน่งเราสั่งไปแล้ว 440 คน ฝั่งข้าราชการเข้าข่ายมีจำนวน 804 คนที่ถูกไล่ออกไป ละเมิดทางแพ่ง 647 แห่ง คืนมา 1,200 กว่าล้านบาท เมื่อดูสถิติจะเห็นว่าไม่ถึง 10%

ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตนมีแนวคิดในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันที่ต้องมือกันทุกภาคส่วน ผู้ว่าฯเป็นเหมือนกองหลัง ส่วนราชการเป็นกองกลาง ประชาชนเป็นกองหน้าที่จะพิชิตการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ การสร้างความศรัทธาของภาคราชการเป็นส่วนสำคัญ ถ้าประชาชนเชื่อถือระบบราชการ เขาจะให้ความร่วมมือ และจะเป็นพลังในการขจัดปัญหาอุปสรรคได้ ซึ่งผลงานประเมิน ITA ของภูเก็ตมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2563 เราสอบไม่ผ่านได้ C ปี 2564 ได้ A ปีนี้ 2565 ได้ AA ถือเป็นชัยชนะของ ทุกภาคส่วน 

ด้าน นายไมตรี ไตรติลานันท์  ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนต้องเป็นจังหวัดสะอาด มี 3 สะอาด ได้แก่

1.บ้านเมืองสะอาด สร้างบรรยากาศให้น่าอยู่ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต

2.คนสะอาด ทั้งข้าราชการ และ ภาคประชาชน ทำให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม

3.การบริหารราชการสะอาด

หน้าที่ของผู้ว่าฯ คือทำให้การบริการ การปฏิบัติหน้าที่ของราชการตั้งใจทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคุณธรรม และ ต้องคุ้มค่า นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ร่วมตรวจสอบ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่เน้นย้ำเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ เกิดประโยชน์กับประชาชนจริง หรือ กรมบัญชีกลางที่มีโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Cost) โดยให้จังหวัดเลือกโครงการของท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณ 7 ล้านบาทขึ้นไป หรือ โครงการของอบจ.ที่ใช้งบประมาณสูงที่สุด 1 โครงการ

ซึ่งกระบวนการตรวจสอบเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อไปจนถึงสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสและเป็นประโยขน์ต่อประชาชน สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทราสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อจากนี้คือเรื่อง ITA ต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและนอกองค์กร การประชาสัมพันธ์สื่อสาธารณะ ทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชน ชมรมสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริตที่ต้องทั้งเฝ้าดูและส่งเสียง ทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

 

ACT ร่วมกับมหาดไทย จัดเสวนา “ผู้นำ...กับการปราบโกง”

ขณะที่ นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้ย้ำความสำคัญของภาคประชาชนในการเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้กับ รมว.มหาดไทย ได้รับทราบผ่านไปยังผู้นำในระดับจังหวัด จึงได้นำร่องด้วยการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด 2 ท่าน จากฉะเชิงเทรา และ ภูเก็ต มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้เห็นความสำคัญว่าผู้นำในระดับจังหวัดต้องเชื่อมโยงกับประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

พร้อมกับการใช้เครื่องมือที่มีศักยภาพเพื่อตรวจสอบโครงการในการก่อสร้างภาครัฐ (Cost) การใช้กลไกข้อตกลงคุณธรรม (IP) เพื่อความโปร่งใสและเกิดประโยขน์กับประชาชนมากที่สุด

“เราเชื่อมั่นว่า การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนจะทำให้เกิดพลังในการแก้ปัญหา การเริ่มต้นในวันนี้ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ได้จับมือกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นหน่วยวิชาการเชื่อมโยงกับระบบรัฐสภา และเรายังมีโอกาสร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเชื่อมโยงกลับไประดับประชาชน มุ่งหวังยกระดับธรรมาภิบาลของสังคมโดยรวม ภายใต้แนวคิดว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เรื้อรังมานานในสังคมไทยให้หมดไปให้ได้ โดยมีผู้นำเป็นคนสำคัญร่วมปฏิบัติการไปด้วยกัน” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุ

related