svasdssvasds

คุณเองก็เป็นได้นะ ผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทยน่ะ

คุณเองก็เป็นได้นะ ผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทยน่ะ

อยากเป็นผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทยต้องทำอย่างไร ไปทำความเข้าใจการเป็นผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทยกับงานเสวนาภาษาคนรักษ์นก ตอน เส้นทางสู่การเป็นผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทย

สำนวน ‘เดินชมนกชมไม้’ นั้น เป็นสำนวนสำหรับการเดินเล่นชิวๆในสวนในบรรยากาศที่น่าอภิรมย์ แต่ถ้าเกิดการชมนกชมไม้นี้จริงจังขึ้นมา คุณอาจเป็นผู้คนพบชนิดใหม่ของประเทศได้เลย บางคนอาจสงสัยว่าถ้าเกิดเราอยากเป็นคนค้นพบนกชนิดใหม่ในประเทศไทยบ้างล่ะ ต้องเริ่มยังไง? ดูยังไงบ้าง? สังเกตจากตรงไหน? แล้วจะรู้ได้ไงว่านี้คือชนิดใหม่เมืองไทย? คุณมาถูกทางแล้ว วันนี้ Springnews จะพาไปทำความรู้จักกับวิธีสังเกตนกชนิดใหม่กับ Bird Talk เสวนาภาษาคนรักษ์นก EP.6 เส้นทางสู่การเป็นผู้คนพบนกใหม่เมืองไทย

เสวนาภาษาคนรักษ์นก EP.6 เส้นทางสู่การเป็นผู้คนพบนกใหม่เมืองไทย

รายการ Bird Talk จัดทำโดย Bird Conservation Society of Thailand (BCST) เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาได้จัดเสวนาพูดคุยในหัวข้อ ‘เส้นทางสู่การเป็นผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทย’ ผ่านทาง Facebook live ทาง Springnews จึงได้สรุปสาระสำคัญพอสังเขปที่น่าสนใจจากงานเสนานี้มาให้ได้อ่านกันแบบทำความเข้าใจง่ายๆสำหรับใครที่อยากเข้าวงการดูนก 

จำแนกนกให้เป็น จำแนกอย่างไร?

อย่างแรกเลยคือต้องจำแนกให้เป็น การจำแนกประเภทนกที่คาดว่าจะเจอได้ในเมืองไทย ทั้งแบบที่ค้นพบไปบ้างแล้วและยังไม่ได้ค้นพบนั้นสำคัญ

อ้างอิงจากหนังสือคู่มือ Bird of Thailand โดย Boonsong Lekagul และทางทีมงานได้จำแนกประเภทกลุ่มนกไว้ 20 ประเภทที่คาดว่าจะเจอได้ในเมืองไทย โดยแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศ เช่น Palearctic – Africa คือนกที่อพยพผ่านพื้นที่อาร์กติกหรือบริเวณขั้วโลกเหนือลงไปยังแอฟริกา

นก 20 ประเภท ที่ทางผู้จัดคัดเลือกมาให้เพื่อจำแนกการค้นพบตาม Flyway ของนกแต่ละชนิด หรือกลุ่มนกประจำถิ่น อย่าง Sundaic Resident นกประจำถิ่นที่อยู่ในเขตซุนดรา หรือ Indochinese Resident นกประจำถิ่นที่อยู่ในเขตอินโดจีน ซึ่งทั้งหมดนี้มีโอกาสเจอได้ในประเทศไทย

การจำแนกมีได้หลายอย่างตามชนิดของนกไป ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มขน สีขน หงอน รูปทรงหาง สีเล็บ และเสียงร้องเป็นต้น หากเทียบกับนกชนิดเดียวกัน บางชนิดก็ดูค่อนข้างยาก บางชนิดก็สังเกตง่าย

การจำแนกนกจากเส้นทางการบินของนก

Flyway หรือเส้นทางการบินของนกนั้นสำคัญและถูกจำแนกไว้ตามการอพยพย้ายถิ่นฐาน หากเป็นประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มของ East Asian – Australasian Flyway เป็นสำคัญ กับเส้นทางรอบๆที่นกมีโอกาสหลงเข้ามายังภูมิภาคประเทศใกล้เคียง

เส้นทางการบินของนกแต่ละกลุ่ม ขอยกตัวอย่างนกที่มีรายงานพบในรอบประเทศเพื่อนบ้านของไทยเกือบหมดแล้ว แต่ยังไม่พบในไทย คือ นกLesser Kestrel กับ Common Kestrel หรือจำพวก Kestrel ที่กำลังรอให้คนค้นพบในไทยอยู่ ซึ่งวิธีสังเกตคือมักจะอยู่กันเป็นกลุ่ม และอยู่ในเส้นทางการบิน Palearctic – India

Common Kestrel / ebird Lesser Kestrel / ebird เส้นทางการบินของนกมีหลายเส้นทางและหลายกลุ่ม มีโอกาสเป็นไปได้ที่นกของเส้นทางอื่นจะหลงมา เพราะส่วนใหญ่นกจะอพยพในช่วงหน้าร้อน

ในไลฟ์ของการเสวนาได้กล่าวถึงกลุ่มนก 20 ชนิดและวิธีสังเกตนกชนิดใหม่ สามารถกดเข้าไปฟังเต็มๆได้ที่ >>> https://web.facebook.com/bcst.or.th/videos/995939651025964/

นกชนิดใหม่ส่วนใหญ่ในไทยเจอที่ไหนได้บ้าง

ส่วนใหญ่เจอได้จากทางภาคใต้และภาคเหนือ แต่ต้องสังเกตดีๆ นกบางชนิดมีลักษณะที่คล้ายกันมาก จนแทบแยกไม่ออก หากอยากพบนกน้ำก็ต้องไปยังพื้นที่ที่แอ่งหรือแหล่งน้ำ เน้นสังเกตแหล่งที่พักพิงของชนิดนกที่เราต้องการพบ หากอยากพบนกชนิดอื่นๆก็ศึกษาพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่หรือประเภทป่าไม้ที่พวกมันชอบอาจจะย่นระยะเวลาในการหานกได้ง่ายมากขึ้น และที่สำคัญบำรุงสายตาสอดส่องหาดีๆล่ะ สรุปก็คือเน้นภูมิประเทศที่คาดว่านกที่เราต้องการหาจะอยู่ และศึกษานกอื่นๆที่มีชอบภูมิศาสตร์ใกล้เคียงไว้ด้วย เผื่อบังเอิญเจอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการถ่ายภาพนก

การเฝ้าสังเกตเพื่อรอถ่ายรูปสำหรับนักดูนกนั้น การมีกล้องคู่ใจถ่ายภาพนกสวยงามน่าจะเป็นอะไรที่จำเป็นและนิยมอย่างมาก แต่การถ่ายภาพที่ดีหรือแม้แต่การเป็นช่างภาพที่ดีนั้น อย่าลืมเป็นช่างภาพที่น่ารักและคำนึกถึงสวัสดิภาพและความเป็นส่วนตัวของนกด้วย

กล้องที่เหมาะสมคือกล้อง DSLR ที่ซูมได้ใกล้แม้อยู่ระยะไกล กล้องแบบนี้เหมาะสมและเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึกเลยคือ เราจะถ่ายอย่างไรไม่ให้เป็นการรบกวนหรือกระทบต่อนกและธรรมชาติ เว็บไซต์สมาคมอนุรักษ์นกและธรราติแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ดังนี้

เบื้องต้นต้องคำนึง 4 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ

  • การถ่ายภาพที่รัง

ไม่ไปตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อจัดฉากการถ่ายรูป หรืออย่าแตะต้องรังของพวกมันเลยจะดีกว่า พวกมันเลือกแล้วว่าทำเลนี้แหละเหมาะ หากไปขยับเขยื้อนอาจเป็นการไปเปิดทางให้ผู้ล่าเห็นมันได้ง่ายขึ้นและทำให้พวกมันรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ และต้องรักษาระยะห่างและตั้งบังไพรหรือการพรางตัว อย่าทำให้พ่อแม่นกตกใจจนหนีไป เพราะบางชนิดอาจไม่หวนกลับมาอกีเลยและทิ้งลูกของมันไว้ได้

  • การใช้แฟลชหรือสิ่งล่อให้นกสนใจ

การใช้แฟลชกล้องนั้นเป็นการรบกวนนกอย่างมาก ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรใช้ หรือใช้เท่าที่จำเป็น นกแต่ละชนิดสามารถทนแสงแฟลชไม่เท่ากัน การใช้เสียงล่อก็ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่ควรเปิดเสียงใดๆขณะถ่ายภาพ จะทำให้พ่อแม่นกเครียด มีโอกาสที่จะหนีรังไปได้และใช้อาหารล่อเท่าที่จำเป็น ไม่ควรทิ้งอาหารเกลื่อนกลาด นอกจากจะแปลกปลอมในระบบนิเวศนั้นแล้วยังเป็นจุดสังเกตได้ง่ายสำหรับผู้ล่าด้วย

  • ระยะห่างจากตัวนก

แค่ไหนเรียกว่าใกล้เกินไป นกแต่ละชนิดให้เราใกล้ได้มากน้อยต่างกัน เน้นสังเกตพฤติกรรมพวกมันเป็นหลัก หากมันหยุดกิจกรรมตรงหน้ากระทันหันหรือบินหนีไปแสดงว่าคุณใกล้เกินไปแล้วนะ และอย่าพยายามไล่เพื่อให้นกบิน พียงเพราะอยากเก็บภาพ จะทำให้นกเครียดและสูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ และคุณต้องเรียนรู้พฤติกรรมของนกไปพร้อมๆกันกับมัน รบกวนพวกมันให้น้อยที่สุด

  • เคารพสถานที่

โปรดปฏิบัติตามข้อกำหนดและข้อห้ามของสถานที่นั้นๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ฯ หรือพื้นที่ส่วนบุคคล ต้องได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อนเสมอ และโปรดรักษาความสะอาดแบบกราบงามๆเลย อย่าทิ้งขยะเรี่ยราดในบริเวณที่ถ่ายภาพ ป้องกันสัตว์ป่ามากินเศษอาหารและขยะอันส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพและระบบนิเวศ และคุณต้องคำนึงถึงผู้อื่นเสมอ

การถ่ายภาพนกที่ดีที่สุดคือการสังเกตและอยู่นิ่งของใครของมัน รบกวนซึ่งกันและกันให้น้อยที่สุดและให้เขาแสดงธรรมชาติของเขาออกมาให้มากที่สุด จะดีทั้งต่อตัวของนกเองและผู้ถ่ายเองด้วย

สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นนักดูนกและนักค้นพบนกมือใหม่เมืองไทยคือ ศึกษาข้อมูลนกให้รอบรู้ ฝึกสังเกตสิ่งแปลกใหม่บนตัวนก แม้ว่าบางตัวเราอาจไม่รู้จัก แต่มีการค้นพบไปแล้ว ก็อย่าเสียใจไป ถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่มันยังวนเวียนอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันกับเรา และถ่ายรูปมาฝากกันเยอะๆนะ สิ่งที่สอง หากอยากค้นพบนกชนิดไหนที่ยังไม่เคยเจอศึกษาภูมิประเทศที่คาดว่านกชนิดนั้นจะอาศัยหรือบินไปพักพิงได้ หาทำเลดีๆ สงบเงียบ และดูปลอดภัยสำหรับนกเพื่อเฝ้ามอง

หากทำ 2 อย่างนี้ได้ก่อนคุณก็พร้อมที่จะเป็นนักดูนกได้แล้วและมีโอกาสขยับเป็นเป็นผู้ค้นพบนกใหม่เมืองไทยได้เลย ขอแค่มีความพยายามและใจรัก รวมไปถึงความพร้อมในการอยู่กับที่นานๆ

การเป็นนักดูนกและค้นพบนกใหม่นั้นไม่ยากและก็ไม่ง่าย ขอแค่คุณมีความสนใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับนก คุณก็จะเป็นนักดูนกที่ดีได้ และอย่าลืมรักษาธรรมชาติเวลาแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนด้วยล่ะ นกและธรราติถือเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่โลกใบนี้มานานไม่ต่างกับมนุษย์เรา ขอแค่เคารพการมีอยู่ซึ่งกันและกัน ธรรมาติก็ยังคงสมบูรณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆแล้ว มารักษ์ป่าและนกไปพร้อมกันนะ

ที่มาข้อมูล

https://web.facebook.com/bcst.or.th/videos/995939651025964/

https://www.bcst.or.th/essential_grid/bird-friendly-photography/

related