svasdssvasds

เช็กที่นี่ สัตว์น้ำวัยอ่อน ต้องมีขนาดเท่าไหร่ถึงบริโภคได้นะ?

เช็กที่นี่ สัตว์น้ำวัยอ่อน ต้องมีขนาดเท่าไหร่ถึงบริโภคได้นะ?

คุณกำลังทานสัตว์น้ำวัยอ่อนอยู่หรือเปล่า #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู รณรงค์งดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อนเนื่องใน8 มิ.ย. วันมหาสมุทรโลก Spring ชวนดูเหตุผลทำไมเราไม่ควรทานลูกปลา

อาหารซีฟู้ด หรืออาหารทะเลในไทยเป็นที่นิยมในหมู่ประเภทอาหารที่มีอยู่บนโลก กุ้งตัวใหญ่ ปลาหมึกอวบ ๆ หรือปูเนื้อเยอะ คงทำหลายคนน้ำลายสอ แต่มีใครเคยสังเกตเห็นปลาตัวเล็ก ๆ ที่ปะปนอยู่ในเมนูอาหารทั้งตามสตรีทฟู้ดหรือบรรจุภัณฑ์อาหารบางแบรนด์ หรือปลาทูตัวเล็ก ๆ ที่เรามองก็น่ารักจิ๋วหลิวดี แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปลาเศรษฐกิจเหล่านั้นยังไม่ถึงเวลาลงไปอยู่กระเพาะของเรานะ

การบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นปัญหาที่ชาวประมงพื้นบ้านคัดค้านมานาน เพราะต้นเหตุมาจากอวนลากเรือประมงขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์จับสัตว์น้ำขึ้นมาแบบกวาดมาเกือบทั้งบริเวณน่านน้ำแถบนั้น ทำให้มีลูกปลาติดมาด้วย ทั้งๆที่พวกมันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และสิ่งเหล่านี้เองจะส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลาและระบบนิเวศ

อวนลากขนาดใหญ่ทำให้จับลูปลาที่ยังไม่ถึงเวลารับประทานขึ้นมาด้วยจำนวนมหาศาลในแต่ละปี Cr.theplanetvoice.com

หลายคนเชื่อว่า ทะเลไทยหรือทะเลโลกไม่มีวันหมดทะเลไปได้หรอก ซึ่งก็ถูก มันดูไม่น่าหมดทะเลหรอก มหาสมุทรออกจะมีพื้นที่มากกว่าแผ่นดินแบบนี้คงไม่น่าหมดหรอก มั้ง?

แต่คุณอย่าลืมว่า อุตสาหกรรมประมงทั่วโลกนั้นเติบโตเร็วขนาดไหน และการทำประมงในแต่ละวันได้จับสัตว์น้ำขึ้นมากี่ชนิดพันธุ์และกี่ตัน ซึ่งหากรวมกันทั่วโลก มันก็คือประชากรปลาเกือบทั้งเกาะนั่นแหละ ทรัพยากรธรรมชาติดูเหมือนมีไม่จำกัดก็จริง แต่เราอย่าละเลยธรรมชาติจนเคยตัวสิ เพราะวันหนึ่งหากเราไม่หยุดพฤติกรรมบริโภคแบบล้างผลาญแบบนี้ ปลาอาจหมดทะเลจริง ๆ เข้าสักวันก็ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อไม่ให้เป็นการใส่ร้ายประมงพาณิชย์มากเกินไป เราต้องมองว่านี่เป็นกลไกตลาดและเรื่องของธุรกิจ ในปัจจุบันหลายประเทศได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อใช้ควบคุมการทำประมงพาณิชย์เหล่านี้ ในการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำ รวมไปถึงกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า เหล่านายทุนผู้เป็นเจ้าของประมงพาณิชย์ต้องทำตามกติกาอย่างเคร่งคัด

เรือประมงพาณิชย์ แต่ #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู เหล่าหัวหน้านายกสมาคมและสมาชิกประมงพื้นบ้านได้ร้องต่อรัฐว่า ดูเหมือนเรือประมงพาณิชย์จะไม่ได้เคร่งเรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเท่าที่ควร พวกเขาพบเห็นเรือหลายลำและลูกปลาตัวเล็กถูกส่งออกสู่ตลาดในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งมองว่า การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนทำให้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ และไม่ยุติธรรมต่อประมงพื้นบ้าน ทำให้พวกเขายากจนเพราะหน่วยต่อรองไม่เท่ากัน

ตาม พ.ร.ก การประมง พ.ศ. 2558 ได้มีการกำหนดไว้ว่าอุตสาหกรรมประมงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ในการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำรวมถึงตรวจตราขนาดของสัตว์น้ำตามที่รัฐกำหนด

ทำไมสัตว์น้ำวัยอ่อนสำคัญยังไง และคืออะไร?

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปลาขนาดเล็กที่เรากำลังทานอยู่ มันไม่ได้เล็กเป็นทุนเดิมตามสายพันธุ์ แต่มันคือลูกปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย เช่น ปลาทูแก้ว หมึกกะตอยหรือหมึกกล้วย ปลาข้าวสาร/ปลาฉิ้งฉ้าง/ปลากะตัก และปูม้าในส้มตำ

แล้วสัตว์น้ำวัยอ่อนเหล่านี้ต้องตัวขนาดไหนถึงจะบริโภคได้ล่ะ ดูรูปตามนี้เลย

เช็กที่นี่ สัตว์น้ำวัยอ่อน ต้องมีขนาดเท่าไหร่ถึงบริโภคได้นะ?

ในด้านของอวนประมงที่ใช้กันนั้น รูปแบบของอวนประมงส่วนใหญ่ เพื่อประหยัดต้นทุนจึงออกแบบให้อวนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อกวาดต้อนสัตว์น้ำในคราวเดียวและยกขึ้นมา ทำให้ได้ปริมาณสัตว์น้ำมหาศาล แล้วอวนลากแบบไหนบ้างที่ทำลายระบบนิเวศทางทะเล

  • เรืออวนลาก : มัดอวนใหญ่ไว้กับเรือ ในลักษณะคล้ายถุง เคลื่อนเรือไปข้างหน้าเพื่อให้อวนด้านหลังขยาย บ้างก็ใช้กับเรือเดี่ยว บ้างก็ใช้โยงระหว่างเรือ 2 ลำเรียกเรือคู่
  • เรืออวนรุน : คล้ายเรืออวนลาก แต่ใช้ได้แค่บริเณนน้ำตื้นไม่เกิน 15 เมตร เรือจะดันหน้าดินพร้อมประกบกับคันรุน นิยมดักจับกุ้ง เคย หมึก ปลากะตัก เป็นต้น
  • เครื่องมือจับปลากะตักด้วยการใช้แสงไฟล่อ : เน้นใช้เวลากลางคืน ใช้อวนตาถี่ลากไป พร้อมมีไฟล่ออยู่ด้านหน้าเพื่อให้ปลาว่ายตามเข้าอวน
  • เครื่องมือคราดหอยลาย : อวนขนาดเล็กที่ไถครูดไปกับหน้าดินเพื่อเก็บหอยที่อาศัยอยู่ในดิน สร้างความเสียหายมากที่สุด เพราะทำให้ตะกอนดินฟุ้ง หน้าดินเสียหาย

และทุกอวนที่กล่าวไปนั้น ได้กวาดเอาลูกปลาที่ไม่ต้องการไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีอุปกรณ์เสริมสำหรับอวนในการคัดกรองปลาขนาดเล็กแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดในหลายพื้นที่ทั่วโลก ปริมาณการจับปลาเกินขนาดจึงยังเยอะอยู่พอสมควรในแต่ละภูมิภาค

นอกจากนี้ผลกระทบจากอวนลากขนาดใหญ่ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับปะการัง หากเกินการฉีดขาดระหว่างลาก เศษซากอวนจะไปคลุมปะการังเบื้องล่าง ปลาหากินลำบากมากขึ้นและปะการังอาจตายได้

Cr.theplanetvoice.com แล้วสัตว์น้ำแบบไหนห้ามบริโภคบ้าง

คนรักทะเลจะรู้ดีว่า หากอยากให้ระบบนิเวศเดินหน้าต่ออย่างสมบูรณ์ สัตว์ประเภทไหนที่ควรเลี่ยงเมื่อเจอ หรือหากพบเห็นที่ไหนสามารถแจ้งเจ้าที่เข้าตรวจสอบได้

ฉลาม

เมนูหูฉลาม สุดฮิตที่ชาวเอเชียบางส่วนเชื่อว่านี่แหละคืออาหารชั้นดีที่จะช่วยให้สุขภาพดีแข็งแรง แต่ในความเป็นจริงหูฉลามหนึ่งชามมีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าไข่เป็ดหนึ่งฟองเท่านั้น แม้ฉลามจะเป็นผู้ล่าที่น่าเกรงขาม แต่ในแต่ละปีมันถูกมนุษย์ล่าราวๆ 73 ล้านตัวในทุกๆปี จนทำให้ประชากรฉลามลดลงไปทุกวัน

ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม

เป็นปลาที่ขยายพันธุ์ยากและยาวนาน โดยตัวเมียจะตั้งครรภ์ถึง 1 ปี กว่าจะมีลูกได้ 1 ตัว และถูกจัดอยู่ในบัญชีแดงสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

ปลานกแก้ว

หากพบเจอ นั่นคือมาจากการทำประมงผิดกฎหมายนะ พราะมันคือสัตว์คุ้มครอง พวกมันมีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของปะการังและสามารถเพิ่มปริมาณทรายในทะเลได้ด้วยอึของมันเอง

ปลานกแก้วกินไม่ได้นะ Cr. Mgonline ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน

เป็นปลาที่มีราคาสูง วงการซูชิต้องการตัวมาก แต่เพราะการบริโภคมากเกินไปจนทำให้พวกมันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ยังมีสัตว์ทะเลอีกมากมายที่มีกฎหมายคุ้มครองและการเข้าใจผิดของมนุษย์ และการบริโภคมากเกินไปจนทำให้พวกมันตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ดังนั้นมาช่วยกันรักษาระบบนิเวศทางทะเล ด้วยการคัดสรรสัตว์น้ำที่เราจะรับประทาน เป็นหูเป็นตาให้กับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่จับ ไม่ซื้อ ไม่ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน และรับประทานอย่างพอดี ไม่กินเหลือ เพราะแม้พวกมันจะเป็นอาหารของเรา แต่พวกมันก็ทำให้เราได้อิ่มและช่วยให้ท้องทะเลยังสวยงามด้วย การประมงที่ดีคือการประมงที่ต้องให้เวลาธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองและการทำประมงอย่างพอดี

ที่มาข้อมูล

https://theplanetvoice.com/overfishing-the-brink-of-a-marine-food-crisis/

https://www.greenpeace.org/thailand/story/20849/ocean-sustainability-what-happened-if-there-is-no-juvenile-fishes/

https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2021/

https://www4.fisheries.go.th/file_footer/20160517105511_file.pdf

related