svasdssvasds

ปรัญชาแต่งกายของนักการเมืองเสื้อคอเต่า 'สุวัจน์ ลิปตพัลลภ'

ปรัญชาแต่งกายของนักการเมืองเสื้อคอเต่า 'สุวัจน์ ลิปตพัลลภ'

ถอดรหัสการแต่งกายของ 'สุวัจน์ ลิปตพัลลภ' นักการเมืองที่มีเสื้อคอเต่าเป็นเอกลักษณ์ กับแนวคิดและปรัชญาของการแต่งกายเพื่อให้ปลอดภัย ทันสมัย และให้เกียรติเจ้าภาพ

SHORT CUT

  • ชุดเสื้อคอเต่ากับแจ็กเกตกลายเป็นเครื่องแบบของสุวัจน์ หลังเหตุการณ์บ้าน 111
  • เคล็ดลับการ Mix&Match ชุดสำหรับนักการเมืองที่ต้องทำหลายกิจกรรมต่อวันด้วยเนคไทและผ้าเช็ดหน้า
  • สูทสีเข้มและมารยาททางการทูตที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย

ถอดรหัสการแต่งกายของ 'สุวัจน์ ลิปตพัลลภ' นักการเมืองที่มีเสื้อคอเต่าเป็นเอกลักษณ์ กับแนวคิดและปรัชญาของการแต่งกายเพื่อให้ปลอดภัย ทันสมัย และให้เกียรติเจ้าภาพ

ถ้าพูดถึงการแต่งกายของนักการเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในนั้นคือ 'สุวัจน์ ลิปตพัลลภ' ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง หลายคนมักจะเห็นเขาในชุดเสื้อคอเต่าในหลากหลายกิจกรรม ตั้งแต่การเดินหาเสียง การเปิดงานสำคัญๆ งานรื่นเริง หรือแม้กระทั่งงานประชุมที่เป็นทางการ เขาสามารถปรับสไตล์การแต่งกายของชุดเสื้อคอเต่าให้เข้ากับกิจกรรมในทุกรูปแบบได้อย่างลงตัว ภายใต้ Protocol การแต่งกายที่เขายึดถือมาตลอดชีวิตทางการเมือง

ทีมข่าว SPRiNG มีโอกาสได้รับเชิญให้เยี่ยมบ้านเลขที่ 333 และสัมภาษณ์พิเศษอดีตรองนายกรัฐมนตรีถึงไลฟ์สไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น เขาเปิดเผยว่าที่มาของเสื้อคอเต่าที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัว เริ่มจากเหตุการณ์บ้านเลขที่ 111 หลังจากที่ตัวเองโดนเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ไม่จำเป็นต้องใส่สูทไปประชุมเหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับเป็นคนขี้หนาว ถึงขนาดนั้นนอนไม่เคยเปิดแอร์ เจ้าตัวจึงหันมาใส่เสื้อคอเต่าเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลาและดีต่อสุขภาพ

เขาเล่าว่าในช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ตอนนั้นยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน ห้องประชุมก็มักจะเปิดแอร์ 18 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เขาไม่ชอบ ทำให้เขารู้สึกไม่สบายบ่อยๆ แต่เมื่อไม่ต้องเข้าประชุม การใส่เสื้อคอเต่ากับแจ็กเกตก็ทำให้ดูรีแล็กซ์ แต่ยังดูดีและภูมิฐานไปพร้อมกัน จนกลายเป็นเครื่องแบบไปแล้วก็ว่าได้

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

การแต่งตัว Mix & Match สไตล์สุวัจน์

ช่วงแรกเขาใส่เสื้อคอเต่าที่ทำมาจากผ้าวูลที่เป็นที่นิยมในแถบประเทศเมืองหนาวที่อากาศเย็นมากๆ แต่อาจจะทำให้รู้สึกร้อนเกินไปนิดนึงสำหรับใส่ในประเทศไทย จึงเปลี่ยนมาเป็นเสื้อคอเต่าที่ทำมาจากผ้าคอตตอนหรือผ้าฝ้าย โดยเฉพาะยี่ห้อยูนิโคลที่ใช้ประจำเพราะใส่สบายและไซส์เหมาะกับคนเอเชีย 

 

สุวัจน์ เปิดเผยว่า หลักคิดในการแต่งตัวของเขาคือ แม้ข้างในจะเป็นเสื้อคอเต่าสบายๆ แต่ข้างนอกจะต้องมีสไตล์หรือดูดีสักหนึ่งชิ้น แต่ไม่จำเป็นต้องใช้แบรนด์เยอะ เพราะมันจะแข่งกันเอง เช่น อาจจะใช้แจ็กเกตหรือเบลเซอร์ที่ดูดี หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะเป็นนาฬิกาหรือเข็มขัดแบรนด์ที่ดูดีสักหนึ่งชิ้นบนร่างกายก็เพียงพอ และที่สำคัญคือต้องไม่มีลายเกินหนึ่งชิ้นในร่างกายเด็ดขาด

เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า การเลือกสีชุดก็ขึ้นอยู่กับเวลาจัดงาน เช่น ถ้างานการคืน อาจจะเป็นสีน้ำเงินเข้ม สีเข้ม สีดำ แต่ถ้าไปทะเล งานจิบน้ำชากลางวัน อาจจะเป็นสีสว่างๆ เช่น ฟ้า ขาว หรือถ้าเทศกาลคริสต์มาสก็ต้องเป็นสีแดง-เขียว หรือถ้าไปงานกีฬาก็ต้องเลือกแจ็กเกตที่มีความสปอร์ตอีกหน่อย เป็นต้น โดยดูจังหวะของฤดูกาลและรูปแบบกิจกรรม

ด้วยวิธีคิดแบบวิศวกรที่เขาร่ำเรียนมา ทำให้เขามีพื้นฐานความคิดที่เป็นโครงสร้าง มีเหตุผล เขาจึงเริ่มสังเกตตัวเองว่ารูปร่าง ความสูง และน้ำหนักแบบนี้ต้องแต่งกายยังไง พร้อมกับติดตามแฟชั่นของยุคสมัย หรือบางครั้งก็ได้จากการดูภาพยนตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขายังเล่าว่าคนดังที่เป็นไอดอลในการแต่งกายคือ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด, ริชาร์ด เกียร์ และราล์ฟ ลอเรน 

เมื่อถามว่า "ไม่คิดว่าตัวเองแต่งกายแบบพระเอกเกาหลีบ้างเหรอ?" สุวัจน์ ยิ้มและตอบว่า "เขาก็ดูเรา เราก็ดูเขา แต่ก็มีคนทักบ้างเหมือนกัน" เขายังเล่าต่อว่าแต่ในบรรดาที่คนทักแล้วรู้สึกตลกมาจนถึงวันนี้คือ "หล่อกว่าตัวจริงอีก" สุวันจ์เล่าด้วยเสียงหัวเราะ

ส่วนสีที่ปลดภัยในมุมมองสุวัจน์ คือ สีเทากับสีขาว ที่สามารถแมทช์กับเสื้อผ้าสีอื่นได้ ซึ่งเจ้าตัวก็จะไม่เคยใส่เสื้อผ้าหรือถุงเท้าสีฉูดฉาดอยู่แล้ว เพราะหนึ่งวันเราอาจจะต้องไปหลายงาน การใส่เสื้อผ้าสีพื้นที่ปลอดภัยจะทำให้เราดูดี แม้จะไม่ได้เกรด A แต่อย่างน้อยก็ได้เกรด B

 

นอกจากนี้ สุวัจน์ ยังเปิดเผยทริกส่วนตัวว่า นอกจากจะใส่เสื้อผ้าที่เป็นกลาง เช่น สูทเข้ม เชิ้ตขาวแล้ว เวลาไปไหนก็จะพกผ้าเช็ดหน้า หรือเนคไท ไปหลายๆ ชิ้น เพื่อเอาไว้เปลี่ยนเวลาเปลี่ยนงาน ถ้างานที่สปอร์ตก็จะไม่ใส่เนคไท หรือถ้าไปงานศพก็อาจจะใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือเนคไทสีดำ หรืองานที่มีตีมสีก็ใช้สีของผ้าเช็ดหน้าหรือเนคไทเป็นจุดเด่นให้เข้าตีมแทน

อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุที่มากขึ้น สิ่งที่ตัวเองให้ความสำคัญมากที่สุดคือความปลอดภัย เช่น เสื้อที่อบอุ่น กางเกงใส่สบาย และรองเท้าที่เดินได้สะดวกไม่ลื่น เป็นต้น

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในชุดคอเต่าออกงานกีฬา

Protocol การแต่งกายและมารยาทในการเข้าสังคม

สุวัจน์ กล่าวว่า การแต่งกายต้องมี Protocol รู้ว่ากำลังทำอะไร ไม่ใช่เอาแต่แฟชั่น แต่ต้องให้เกียรติเจ้าภาพ ตัวเองจะไม่แต่งตัวอะไรที่รีแล็กซ์จนเจ้าภาพรู้สึกว่าเราไม่ให้เกียรติเขา แต่ต้องรู้จักพอดี ส่วนตัวมองว่าการมีแจ็กเกตสักตัวจะปลอดภัย ไปได้ทุกที่ ไม่ต้องหรูหราตลอด เวลาต้องให้ถูกกาลเทศะและให้เกียรติผู้ที่เราไปเจอ 

ยกตัวอย่างนักการทูต หรือนักการเมืองผู้ใหญ่ เช่น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แต่งกายได้อย่างเหมาะสมเวลาไปพบตัวแทนประเทศ ทั้งการเลือกรองเท้า ถุงเท้า เนคไท สูท แต่กลับกัน เวลาที่ไปพบกับประชาชนก็เลือกชุดได้เหมาะสม เช่นเสื้อยืด แจ็กเกตหนัง กางเกงยีนส์ เพื่อให้เข้ากับประชาชนได้อย่างปกติ นอกจากนี้ พล.อ.ชาติชาย ยังถ่ายทอดเรื่องมารยาทในการเข้าสังคมให้ตัวเองด้วย ตั้งแต่ตอนอายุ 35 ปีที่รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกร่วมกับคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ชาติชาย

อดีตรองนายกรัฐมนตรี เล่าว่า ภารกิจของนักการเมืองที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือด้านการต่างประเทศ เพราะเราเป็นตัวแทนประเทศที่ต้องระวังเรื่องท่าที บุคลิก การแต่งกาย มาตรฐานที่ต่างประเทศเขาถือกันเราก็ต้องใส่ใจ เช่น สูทสีเข้มถือเป็นมาตรฐานของผู้นำโลก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความน่าเชื่อถือและเป็นประตูบานแรกในการเปิดบทสนทนา

"ผมว่าการแต่งกายมันเป็นความเชื่อถือครั้งแรกของการเจอกัน ฉะนั้นสำคัญนะ คนเราเจอกันน้ำเสียงก็ไม่เคยได้ยิน แต่จะเห็นได้ด้วยการแต่ตัวก่อน First Sight of Love พอรู้สึกดีแล้วเดี๋ยวคุยกัน รู้สึกดียิ่งขึ้น พอคบกัน นิสัย ยิ่งดีมากขึ้น ฉะนั้นผมว่าการแต่งกายก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องมีความพอดี บางคนแต่งกายเวอร์ไป ก็ขาดความน่าเชื่อถือ ก็จะมองเหมือนเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย เอาแต่แต่งตัว เอาแต่แฟชั่น เนื้อหาคงไม่มีอะไรมั้ง อะไรอย่างนี้นะ"

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เปิดงาน

related