svasdssvasds

ยูเครนเลือกสู้ให้ถึงที่สุด แต่หากแพ้สงคราม รัสเซียจะเป็นภัยคุกคามแห่งยุค

ยูเครนเลือกสู้ให้ถึงที่สุด แต่หากแพ้สงคราม รัสเซียจะเป็นภัยคุกคามแห่งยุค

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เจาะลึกสถานการณ์รัสเซีย - ยูเครน เมื่อต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ แล้วปลายทางของวิกฤตสงครามในครั้งนี้ จะจบลงอย่างไร ?

วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน เป็นสงครามที่ยูเครนเลือกแล้วที่จะสู้ และไม่ยอมแพ้ ดังจะเห็นได้จากการปฏิเสธเงื่อนไขในการเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนรัสเซียเองก็ทุ่มเกือบหมดหน้าตัก ยอมให้ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ งานนี้จึงกลับบ้านมือเปล่าไม่ได้ และเมื่อยูเครนก็ไม่ยอมแพ้ ส่วนรัสเซียต้องชนะเท่านั้น แล้วปลายทางของสถานการณ์จะจบลงเช่นไร ?  

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่จะมาวิเคราะห์เจาะลึกวิกฤตรัสเซีย – ยูเครน ดังต่อไปนี้

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวยูเครนลุกขึ้นสู้ รัสเซียเพิ่มยุทธวิธีโหด

เดิมทีคาดว่า รัสเซียจะสามารถปิดเกมบุกยึดยูเครนได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมาร่วม 2 สัปดาห์แล้ว ยูเครนก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังคงสามารถต้านทานกองกำลังของรัสเซียได้ โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่าอีกปัจจัยสำคัญที่รัสเซียคาดไม่ถึง นั่นก็คือ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้การบุกยึดยูเครน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คาดคิด

“สถานการณ์ในยูเครนยังน่ากังวลอยู่ เพราะรัสเซียยังมีแต้มต่อ แต่คิดว่าครั้งนี้คงไม่ถึงขั้นลุกลามเป็นสงครามนิวเคลียร์ เต็มที่ก็อาจมีการใช้นิวเคลียร์ที่สามารถจำกัดขอบเขตได้ (Tactical Nuclear : นิวเคลียร์ด้านยุทธวิธี) ซึ่งศักยภาพด้านอาวุธของยูเครนยังด้อยกว่ามาก แต่เรื่องที่รัสเซียประเมินผิดก็คือ ยูเครนสามารถต่อสู้ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะประชาชนออกมาร่วมต่อสู้กันเยอะ และระยะหลังนาโต้ (NATO) ก็เริ่มส่งอาวุธให้มากขึ้น

“แต่ตอนนี้รัสเซียได้มีการเปลี่ยนยุทธวิธี เพราะเขายังไม่ได้ใช้กองกำลังทั้งหมด รัสเซียใช้กองกำลัง 95 % แล้วยังมีกบฏที่อยู่ในมอนโดวา อย่าง ทรานส์นีสเตรีย (ที่รัสเซียรับรองเอกราช) โดยรัสเซียเริ่มใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมมากขึ้น มีการเล่นงานเป้าหมายทางด้านพลเรือน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เคยทำให้ชนะในซีเรีย เมื่อปี 2559 (ค.ศ. 2016) ชนะการปราบกบฏเชชเนีย ปี 2559 (ค.ศ.1999) ด้วยการโอบล้อมประชาชนไปรวมอยู่ในชุมชน แล้วตัดน้ำตัดไฟ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองมาริอูโปล

 

“มองจากจุดนี้รัสเซียยังได้เปรียบ เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถเอาชนะได้ในเมืองเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และเมืองสำคัญอื่นๆ ซึ่งกองกำลังของยูเครนยังสามารถต่อสู้ได้อยู่ แต่ว่าอำนาจต่อรอง ก็ยังคงอยู่ที่รัสเซีย”

องค์การนาโต้ (NATO)

นาโต้ไม่ได้นิ่งเฉย แต่ช่วยอย่างมียุทธวิธี  

ตั้งแต่ก่อนสงครามจะเริ่มขึ้น โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้เรียกร้อง ให้นาโต้ (NATO) รับยูเครนเข้าไปสมาชิก เพื่อที่กองกำลังจากชาติสมาชิก รวม 30 ประเทศ จะสามารถเข้าไปช่วยยูเครนได้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้นาโต้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

แต่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า อันนที่จริงนาโต้ให้ความช่วยเหลือยูเครนเยอะมาก แต่ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและมียุทธวิธี ไม่เช่นนั้นสงครามอาจกลายพันธุ์ จากรัสเซีย - ยูเครน เป็น รัสเซีย - นาโต้ ที่สุ่มเสี่ยงกลายเป็นสงครามใหญ่

นาโต้ (NATO) ไม่ได้นิ่งเฉย นาโต้ช่วยยูเครนเยอะ แต่พยายามให้เป็นสงครามระหว่างยูเครน - รัสเซีย เพราะถ้ากลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซีย - นาโต้ มันจะบานปลาย

“และในขณะนี้นาโต้ก็ยังช่วยยูเครนเยอะครับ ส่วนที่ 1 ก็คือให้อาวุธ จากเดิมที่ให้อาวุธประเภทป้องกันตัว แต่พอเห็นยูเครนสู้ได้ ก็ให้อาวุธสำหรับต่อสู้กับศัตรู แล้วประเทศที่เป็นสมาชิกนาโต้ ก็เริ่มให้อาวุธกับยูเครนมากขึ้น

“ส่วนที่ 2 ก็คือ นาโต้ยอมเสียสละผลประโยชน์ ด้วยการเล่นงานรัสเซียด้านเศรษฐกิจ เพราะหลายๆ ประเทศในนาโต้ ก็ได้รับผลกระทบด้วย เช่น การตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบสวิฟต์ (SWIFT) มีการเล่นงานถึงขนาดที่ว่า สหรัฐฯ จะไม่ให้มีการนำเข้าน้ำมัน ไม่ส่งสินค้า เพื่อบีบรัสเซีย ซึ่งก็ส่งผลกระทบกับทางสหรัฐฯ และยุโรปด้วยเช่นกัน 

“เพราะฉะนั้นนาโต้ช่วยเต็มที่ แต่พยายามไม่ให้สงครามกลายพันธุ์ จากสงครามรัสเซีย - ยูเครน มาเป็นสงครามรัสเซีย - นาโต้” 

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน

“ยูเครน” เลือกแล้ว ที่จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

เงื่อนไขการยอมถอยทัพของรัสเซีย ตั้งแต่การเจรจารอบแรก จนจนถึงรอบที่ 3 และคาดว่าจะรวมถึงการเจรจาครั้งที่ 4 หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ 1. ยูเครนต้องเป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 2. ยูเครนต้องยอมรับว่า ไครเมียเป็นของรัสเซีย และข้อ 3 ยูเครนต้องยอมรับในเอกราชของภูมิภาคดอนบัส แต่ยูเครนก็ยืนกรานไม่ยอมรับเงื่อนไข ทำให้การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป

ยูเครนกำลังดำเนินการต่อสู้อย่างเต็มที่ เพราะถ้าเขายอม ก็คงไม่สู้กันมาได้จนถึงขั้นนี้ และที่ยูเครนต้องสู้ ก็เพื่อสิทธิในการเลือกที่จะอยู่กับข้างใดก็ได้ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะถ้ายูเครนยอมรับเงื่อนไขของรัสเซีย ประชาชนจะเล่นงานรัฐบาล สู้กันแทบตาย เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ยูเครนจะยอมรับเงื่อนไขของรัสเซีย 

“แต่ถ้าสมมติว่า รัฐบาลยูเครนยอมรับเงื่อนไขในการเจรจา ก็หมายความว่ารัฐบาลไม่สู้แล้วครับ ก็คือยอมแพ้แล้ว หากรัฐบาลยูเครนเลือกทางนี้ จะโดนประชาชนด่า อุตส่าห์ตายกันเยอะแยะ แล้วผู้นำยูเครนจะยอมแบบนี้เหรอ ความเป็นผู้นำ ความเป็นฮีโร่ของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะจบลงทันที”

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานธิบดีรัสเซีย กับ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน

สนามรบกำหนดชะตากรรม

เมื่อยูเครนไม่ยอมแพ้ ส่วนรัสเซียก็ถอยไม่ได้ แม้จะมีการเจรจากันแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมายูเครนก็ไม่เคยรับเงื่อนไข จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์ในสนามรบร้อนระอุและรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ   

“และพอมาถึงจุดๆ หนึ่ง สถานการณ์นี้จะไปคลี่คลายลงตรงการทูต (แต่อาจยังไม่จบ) เพราะว่ารัสเซียเองก็ได้รับแรงกดดันเยอะมาก จากเรื่องของเศรษฐกิจ แต่เกมนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ก็แพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้ จะเกิดความลำบากในการรักษาเสถียรภาพรัฐบาล เพราะฉะนั้นงานนี้ถึงแม้เศรษฐกิจพัง ปูตินบอกโอเค เศรษฐกิจรัสเซียพัง เขารับได้ แต่ว่าการรบต้องไม่แพ้

“หรือถ้ามีการเจรจา มีการกดดัน ผลที่ออกมาอย่างน้อยที่สุด ปูตินต้องสามารถกลับไปบอกประเทศของตัวเองได้ว่า โอเค เรายังชนะอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะว่ายูเครนจะยอมหรือ ? ยอมเป็นประเทศที่เป็นกลาง ซึ่งอันนี้เรียกว่าเบาที่สุด แต่ยูเครนจะยอมเหรอครับที่ต้องรับว่าไครเมีย รวมถึงภูมิภาคดอนบัส เป็นของรัสเซีย

“ผมยังคิดว่ายูเครนไม่ยอม และถ้ายูเครนไม่ยอม รัสเซียก็จะเล่นหนัก อาจถึงขั้นขู่ใช้นิวเคลียร์ ตอนนี้นิวเคลียร์เป็นเรื่องการขู่ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เราจะคาดการณ์ได้ 100 %

“อันนี้เป็นจุดที่อันตรายมาก สถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน เพราะการเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมายังไม่เป็นผล ตกลงกันได้เฉพาะประเด็นรองๆ เท่านั้น โดยสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรม ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในสนามรบ”

เป็นไปได้หรือไม่ ยูเครนอาจตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ?

ส่วนในกรณีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น หากรัฐบาลยูเครนสู้ไม่ไหว แต่ก็ไม่ยอมแพ้นั้น รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และหากสมมติรัสเซียสามารถยึดยูเครนได้ แต่ก็จะประสบความปัญหาในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ

“ถ้าเกิดยูเครนสู้ไม่ไหว ก็คงต้องมีรัฐบาลพลัดถิ่น แต่รัฐบาลพลัดถิ่นที่ประสบความสำเร็จมีสักกี่แห่ง แล้วประเทศไหนจะมายอมรับ เพราะรัสเซียขู่ว่า ใครก็ตามที่ช่วยเหลือ โดนแน่นนอน ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แน่นอนถ้ายูเครนสู้ไม่ไหว คงมีความพยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

“และถึงแม้รัสเซียจะชนะ แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาการต่อสู้ภายในประเทศยูเครน กับประชาชนที่ลุกขึ้นมาสู้ แล้วรัสเซียจะทำอย่างไรเพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน”  

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

หลังสงคราม หากยูเครนแพ้ รัสเซียจะกลายเป็นภัยคุกคามแห่งยุค

หลังสงครามรัสเซีย - ยูเครน เริ่มมีการคาดการณ์กันถึง ยุคสงครามเย็น ครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย จะเป็น 3 ประเทศอภิมหาอำนาจ แต่ในมุมมองของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กลับคิดเห็นไปในทางตรงข้าม  

ยุคสงครามเย็น ครั้งที่ 2 ที่คาดการณ์กันไว้ ผมคิดไม่เกิดขึ้นหรอกครับ ยุคสงครามเย็น (ครั้งที่ 1) ที่เคยเกิดขึ้น มันเป็นการแยกขั้วระหว่างชาติประชาธิปไตย กับคอมมิวนิสต์ แต่ตอนนี้ทางด้านรัสเซียไม่ใช่คอมมิวนิสต์ นี่คือความแตกต่าง

“ช่วงยุคสงครามเย็น โซเวียตกับองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw) ก็ควบคุมกันเอง ทางด้านองค์การนาโต้ (NATO) ก็ควบคุมกันเอง แต่ถ้ารัสเซียชนะยูเครน จะไม่ใช่สงครามเย็น ครั้งที่ 2 แต่รัสเซียจะเป็นภัยคุกคาม จะยึดประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตกลับมา แล้วยังไม่พอ จะขยายภัยคุกคามไปทั่วยุโรป และจะเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ด้วย

“และต้องยอมรับว่า ต่อให้รัสเซียชนะยูเครน เศรษฐกิจของประเทศก็จะอ่อนแอไปอีกหลายปี แต่การขยายอิทธิพลต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะปูตินมีความใฝ่ฝันอยากให้รัสเซียกลับไปยิ่งใหญ่เหมือนสหภาพโซเวียต

“ถ้ารัสเซียชนะยูเครน มันไม่ใช่ยุคสงครามเย็น ครั้งที่ 2 อย่างที่หลายคนคาดคิด จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศต่างๆ ในสหประชาชาติ 141 ประเทศ ถึงได้ต่อต้าน ด้วยการออกมาประณาม

“แม้อีกกว่า 30 ประเทศ ไม่ประณาม แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่รัสเซียบุกยูเครน รวมทั้งจีนก็ไม่เห็นด้วย จึงงดออกเสียง เพราะไม่อยากจะเห็นสถานการณ์ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถรุกรานอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งมันจะทำให้กฎหมายระหว่างประเทศในลักษณะบูรณภาพแห่งดินแดน ได้รับผลกระทบ”

related