svasdssvasds

รวมข่าวสิ่งแวดล้อมประจำเดือนเมษายน 2565

รวมข่าวสิ่งแวดล้อมประจำเดือนเมษายน 2565

ข่าวสิ่งแวดล้อมประจำเดือนเมษายน 2565 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีเรื่องดีหรือเรื่องร้ายเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ใครทำอะไร และโลกนี้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว Springnews รวมให้แล้ว

ในเดือนเมษายนนี้มีแต่เรื่องที่ทั้งชวนเข้าใจผิด ชวนให้เราดีใจ หรือชวนให้เราตื่นตัวในหลายๆเรื่องเลย และก็เป็นอีกเดือนที่มีเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายๆทั่วโลก แต่เดือนนี้มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นเพียบเลย โดยเฉพาะ #LetTheEarthBreath จากการเรียกร้องของนักวิทยาศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้หลายคนเริ่มหันมารับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้บ้างไม่มากก็น้อย

งั้นเราลองมาดูกันไหมว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ เกิดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเรื่องไหนบ้าง Springnews ได้คัดเลือกเรื่องราว ๆ เด็ด ๆ มาให้อ่านกัน แต่จะมีเรื่องไหนบ้างนั้น ไปดูกัน

รวมข่าวสิ่งแวดล้อมประจำเดือนเมษายน 2565 เมษาหน้าหนาว อากาศหนาวพัดจากจีนปกคลุมไทยในฤดูร้อน และข่าวลือเกี่ยวกับ Polar Vortex

ตั้งแต่ต้นเดือนก็น่าประหลาดใจเลย กับอากาศหนาวต้นเดือนเมษายน ปกติเดือนเมษายนจะเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วใช่ไหม แต่นี่อะไร อากาศหนาวเย็นนี่มาจากไหนกัน แน่นอนการเปลี่ยนแปลงฉับพลันนี้ กลายเป็นกระแสโซเชียลทันทีเพราะคนไทยทุกคนสัมผัสกันได้ ว่าลมหนาวนี่คืออะไร ผิดปกติหรือไม่

หลาย ๆ เพจความรู้หรือนักวิชาการต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและวิเคราะห์กันว่า หรือจะเป็นปรากฎการณ์ Polar Vortex หรือเปล่า ลมจากขั้วโลกพัดลงมาในเขตร้อนได้ด้วยเหรอ และอากาศหนาวนี่คืออะไรกันแน่

กรมอุตุฯแจ้งว่า อากาศหนาวที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และในบางพื้นที่มีความแปรปรวนของฝนฟ้าอากาศ เช่น บางพื้นที่ในช่วงกลางวันอาจมีอากาศร้อนจัด และบางพื้นที่ในภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ พร้อมชี้แจงว่าปรากฎการณ์ Polar Vortex ที่หลายเพจกล่าวถึงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับอากาศเย็นที่เกิดขึ้นในไทย

แต่โพลาร์วอร์เทกสามารถเกิดขึ้นในไทยได้ไหม หรือมันคืออะไรกันแน่ สามารถศึกษาต่อได้ที่ >>> Polar Vortex คืออะไร จริงเท็จอย่างไร เกี่ยวข้องกับอากาศหนาวในไทยไหม?

พบไมโครพลาสติกในปอดมนุษย์ที่ยังมีชีวิตครั้งแรกของโลก

ผลการศึกษาใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science of The total Environment พบว่ามีมลภาวะไมโครพลาสติกลึกลงไปในเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตเป็นครั้งแรก

การวิจัยใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดจากผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งกำลังได้รับการผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลตามปกติ แม้ว่าศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาล Castle Hill ที่อยู่ใกล้เคียงใน East Yorkshire ได้แน่ใจแล้วว่าได้ส่งตัวอย่างที่มีสุขภาพดีให้กับทีมแทนที่จะส่งผู้ป่วยจริงมาตรวจสอบเพื่อทำการศึกษา

มีการใช้ตัวอย่างปอด 13 ตัวอย่าง ซึ่งผลที่ออกมาคือปอด 11 ตัวอย่างพบไมโครพลาสติก จากพลาสติกประเภททั่วไปอย่าง PET ที่ใช้ทำขวดดื่มน้ำ โพรพิลีนที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกและท่อ รวมไปถึงพบเรซิน ที่มักจะใช้ทำเป็นกาวหรือยาแนวกระเบื้อง

สามารถศึกษาต่อได้ที่ >>> พบไมโครพลาสติกในปอดมนุษย์ที่ยังมีชีวิตครั้งแรกของโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

#LetTheEarthBreath เมื่อนักวิทย์ฯทนไม่ไหว โลกกำลังจะตายลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เกิด #LetTheEarthBreath ขึ้นมาในเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่คืนวันที่ 14 เมษายน พร้อมมีคลิปไวรัลจากต่างประเทศตัวหนึ่งแสดงให้เห็นการประท้วงของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีการรายงานว่า รัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตให้มีการสร้างโรงงานพลังงานฟอสซิล ซึ่งจะทำให้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าโลกร้อนขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มทนไม่ไหวออกมาประท้วงว่า มันจะทำให้โลกร้อนนะ พวกเขาเตือนมาหลายปีแล้ว แต่ไม่มีใครฟังเลย

โดยรายงานกล่าวว่า มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 1,000 คนจาก 25 ประเทศเข้าร่วมการประท้วงของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการตีพิมพ์ใหม่ของ IPCC หรือคณะกรรมการระว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รายงานเตือนว่า เราต้องลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนให้ได้ภายในปี 2025 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้าย

เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวนักวิทยาศาสตร์ออกไปทีละคนจากที่ชุมนุม ภาพโดย Scientist Rebellion กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องนี้เรียกตนเองว่า Scientist Rebellion ได้เขียนในจดหมายว่า “การดำเนินการและแผนการในปัจจุบันไม่เพียงพอในการลดก๊าซให้ได้ตามเป้าหมาย หรือภาระผูกพันอื่นๆก็จะไม่บรรลุผล” การประท้วงของพวกเขาเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนและความอยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตทางนิเวศวิทยา ตามแถลงการณ์จากองค์กร

อ่านสรุปต่อได้ที่ >>> สรุปให้ #LetTheEarthBreath ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เกิดอะไรขึ้น?

นกหัวขวานปากงาช้างคืนชีพ หลังสูญพันธุ์ไปแล้ว

ถ้าหากถามว่านกหัวขวานปากงาช้างนั้นหายากแค่ไหน ก็คงเปรียบได้กับการค้นหา Bigfoot หรือสัตว์ประหลาดล็อคเนสกระมัง สำหรับสายนักดูนกหรือคนที่ชื่นชอบนกคงจะยินดีกับข่าวนี้ไม่น้อย กับการค้นพบว่านกหัวขวานปากงาช้าง ซึ่งเคยประกาศสูญพันธุ์ไปแล้ว ได้ฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อไม่นานมีนี้มีรายงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยแต่ยังไม่สมบูรณ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่าอยู่ในกระบวนการสังเกตและศึกษาพฤติกรรมอยู่ ว่าพบนกหัวขวานปากงาช้าง (ivory-billed woodpecker) บนผืนป่าของรัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง สหรัฐฯเพิ่งประกาศว่าพวกมันเป็นสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้ว หลังมีคนพบเห็นครั้งล่าสุดในปีค.ศ. 1944

ในอดีต นกหัวขวานปากงาช้างมักพบเห็นได้ทั่วไปในป่าสหรัฐฯ จากแคโรไลนาไปจนถึงเท็กซัส แต่จำนวนของพวกมันลดลงมาเรื่อย ๆ เนื่องด้วยการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์และการล่า การค้นพบครั้งนี้เปรียบเสมือนความหวังที่จะนำพวกมันมาอนุรักษ์ให้สืบสายพันธุ์ต่อไปได้

อ่านข่าวต่อได้ที่ >>> คืนชีพอีกครั้ง! นักวิทย์พบนกหัวขวานปากงาช้างที่เคยประกาศสูญพันธุ์ไปแล้ว

น้ำแข็งขั้วโลกใต้หดตัวต่ำสุดเท่าที่เคยบันทึกมา

วันนี้ขั้วโลกใต้ได้เปลี่ยนไป ตั้งแต่มนุษย์ได้เริ่มบันทึกการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ขั้วโลกมา ในปี 2022 นี้ ขั้วโลกใต้ได้หดตัวมีขนาดเล็กลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายอันเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

เส้นสีเหลือคือขนาดเดิมจากปี 2010 แต่ปี 2022 ลดลงเหลือพื้นที่ดังรูป Cr.earthobservatory.nasa.gov เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะรายงานจาก Nasa และศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (NSIDC) ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ เนื่องจากการบันทึกประจำปีและภาพจากดาวเทียมเผยว่า น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา

อ่านการเปลี่ยนแปลงของทวีปอาร์กติกได้ที่ >>> น้ำแข็งในขั้วโลกใต้หดตัวต่ำสุดเท่าที่เคยบันทึกมา เพราะภาวะโลกร้อน

งานวิจัยชี้ ประชากรแมลงกำลังลดลงเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงของแมลง หรือการลดลงของประชากรแมลง อาจทำหลายคนดีอกดีใจว่า จะได้ไม่มีแมลงมารบกวนหรือเป็นศัตรูพืชของมนุษย์แล้ว แต่นั่นคือความคิดที่ผิดมหัน เพราะการหายไปหรือจำนวนที่ลดลงของประชากรแมลงนั้น ส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง

เมื่อไม่นานมานี้ ผลการศึกษาพบว่า จำนวนแมลงลดลงกว่าครึ่งหนึ่งในบางพื้นที่ของโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกษตรแบบเข้มข้นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเกษตรเข้มข้นคือการใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากหลาย ๆ แห่ง

ในการศึกษาล่าสุด นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับช่วงและจำนวนแมลงเกือบ 20,000 สายพันธุ์ รวมทั้งผึ้ง มด ผีเสื้อ ตั๊กแตน และแมลงปอ ในสถานที่ต่างๆประมาณ 6,000 แห่ง

การสูญเสียจำนวนแมลงอาจไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ส่งผลต่อ “สุขภาพของมนุษย์และความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียแมลงผสมเกสร”

อ่านเรื่องราวเต็ม ๆ ได้ที่ >>> งานวิจัยชี้ ประชากรแมลงกำลังลดลงเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก เกิดอะไรขึ้น?

ภูเขาไฟอานัก กรากะตัว ในอินโดนีเซียปะทุ เถ้าถ่านพุ่งขึ้นฟ้าสูง 3,000 เมตร

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน ภูเขาไฟอานัก กรากะตัว ของอินโดนีเซียเกิดการปะทุ พ่นเถ้าถ่านสูงตระหง่าน 3,000 เมตรขึ้นไปบนท้องฟ้า

Mount Anak Krakatoa เป็นหนึ่งในลูกภูเขาไฟของ Krakatoa ได้พ่นขี้เถ้าหนาทึบเหนือช่องแคบระหว่างเกาะชวาและสุมาตรา ทางรัฐบาลได้ประกาศเตือนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงให้สวมหน้ากากทุกครั้งเมื่ออกไปข้างนอก

ภูเขาไฟกรากะตัว Cr.Smithsonian’s Global Volcanism Program. “เรายังคงจับตามองและบันทึกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีเมฆดำทะมึนลอยอยู่ระหว่า 500-3000 เมตรจากยอดเขา” เดนนี มาร์ดิโอ จากสำนักงานธรณีวิทยาของอินโดนีเซียกล่าว

อานัก กรากะตัวปะทุอย่างน้อย 21 ครั้งแล้วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การปะทุในวันอาทิตย์นั้นใหญ่ที่สุด

เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้ประชาชนอยู่ห่างจากเขตภูเขาไฟปะทุราว ๆ 2 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันถูกจัดระดับการเตือนและเฝ้าระวังอยู่ที่ระดับ 2 ของระบบเตือนภัยภูเขาไฟ ที่มีทั้งหมด 4 ระดับในอินโดนีเซีย

อ่านข้อมูลภูเขาไฟต่อได้ที่ >>> จับตามอง! ภูเขาไฟอานัก กรากะตัวในอินโดนีเซียปะทุ พ่นเถ้าถ่านสูง 3,000 เมตร

UN เผย กิจกรรมมนุษย์จะทำให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้น จากเดิม 350-500 ครั้งต่อปี

UN หรือ (United Nations องค์การระหว่างรัฐบาลหรือสหประชาชาติ) ได้ออกรายงานการสังเกตว่ากิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น โดยจะเกิดภัยพิบัติขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ประมาณ 350-500 ครั้งต่อปี ซึ่งได้เกิดขึ้นไปทั่วโลกแล้วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าในปีต่อๆไปจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น

จำนวนภัยพิบัติส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น ไฟไหม้และน้ำท่วมหรืออัคคีภัย แต่การคำนวณครั้งนี้ยังรวมไปถึงอันตรายอื่นๆด้วย เช่น โรคระบาดหรืออุบัติเหตุทางเคมี ซึ่งอาจเกิดสูงถึง 560 ครั้งต่อปี หรือเฉลี่ย 1.5 ครั้งต่อวันภายในปีค.ศ. 2030 ทำให้ผู้คนหลายล้านชีวิตตกอยู่ในอันตราย (ข้อมูลรายงานการประเมินทั่วโลก จากสำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR))

อ่านต่อได้ที่ >>> UN เผย กิจกรรมของมนุษย์จะทำให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้น เฉลี่ย 500 ครั้งต่อปี

คลื่นความร้อนทำอินเดียร้อนเร็วขึ้น อุณหภูมิต่อวันพุ่งสูงถึง 46 องศา

อินเดีย กำลังเจอปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิต เมื่อ กรุงนิวเดลีของอินเดีย กำลังเจอกับ อากาศร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันมาหลายวันแล้ว บางวันอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุปรอทถึง 43 องศาเซลเซียส และนอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้อาจทะลุ 44 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว และในบางสื่อคาดการณ์ว่าอาจจะทะยานไปถึง 46 องศาเซลเซียส

ปกติแล้วคลื่นความร้อนจะแผ่ปกคลุมในอินเดียโดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย  แต่ช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อนปีนี้ ปี 2022 อินเดีย ก็มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ทำสถิติสูงสุดของเดือน มี.ค. ในรอบ 122 ปีมาแล้ว   และคลื่นความร้อนก็แผ่ปกคลุมตามมา รวมทั้งมีแนวโน้มว่าเดือน เม.ย.นี้ จะสร้างสถิติเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดอีกด้วย

บีบีซี รายงานว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินเดียประกาศเตือนภัยจากคลื่นความร้อนในหลายพื้นที่ 15 รัฐทั่วประเทศ ซึ่งปี 2022 นี้คลื่นความร้อนมาเร็วกว่าปกติ ราวๆ 1 เดือน โดยภาคเหนืออินเดีย อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงนิวเดลีเมืองหลวงอาจมีอุณหภูมิ 44-45 องศาเซลเซียส และเรื่องนี้ กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนอินเดียหลาย 10 ล้านคนอย่างแน่นอน

อ่านข่าวเต็มได้ที่ >>> Climate change : คลื่นความร้อนซัดอินเดีย ร้อนเร็วกว่าปกติ และจ่อถึง 46 C°

แม่น้ำโคลอมเบียเต็มไปด้วยโฟมมลพิษ ทำประชาชนและสิ่งแวดล้อมสาหัส

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แม่น้ำโคลอมเบีย ที่เมือง มอสเกร่า  บริเวณใกล้ๆ กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย เต็มไปด้วยฟองโฟมจากมลพิษลอยเต็มไปหมด และมันได้ทำให้ผู้คนโคลอมเบียเดือดร้อนกันไปตามๆกัน เพราะส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง  โดยโฟมมลพิษเหล่านี้ ได้ปลิวไปตามลม ปิดเส้นทางสัญจร รวมทั้งลอยไปติดตามบ้านเรือนประชาชนที่อยู่โดยรอบอีกด้วย

ตามข้อมูลระบุว่า โฟมมลพิษ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม จะกัดกร่อนสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนของผู้คนแถวนั้น  และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะกับเด็กๆ ซึ่งล่าสุดคนโคลอมเบียที่ได้รับผลกระทบ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน และให้แก้ปัญหาในระยะยาวแล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่ >>> โฟมมลพิษลอยเต็มแม่น้ำ : ปัญหาสิ่งแวดล้อม คนโคลอมเบียเดือดร้อนสาหัส

related